อาการบาดเจ็บทั่วไปจากการเล่นพิคเคิลบอล

อาการบาดเจ็บทั่วไปจากการเล่นพิคเคิลบอล

พิคเคิลบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันสำหรับคนทุกวัย เนื่องจากเป็นกีฬาที่ออกแรงต่ำ ถนอมข้อต่อ เสริมสร้างระบบหัวใจและหลอดเลือด และเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมถึงยังช่วยร่างกายเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว มีสมดุล มีสมาธิ และสุขภาพร่างกายโดยรวมดีขึ้น นอกจากนี้อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

แม้ว่าพิคเคิลบอลจะเป็นกีฬาที่เล่นง่าย ใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน ปรับเปลี่ยนความหนักเบาได้ตามความสามารถ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้เช่นเดียวกับกีฬาอื่น ๆ สถาบันการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (The US-based National Institute of Medicine) ได้รวบรวมอาการบาดเจ็บที่ได้พบบ่อย ดังนี้

อาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยจากการเล่นพิคเคิลบอล

เอ็นอักเสบ (Tendinitis)

การเล่นพิคเคิลบอลเป็นประจำอาจทำให้เส้นเอ็นบริเวณแขนและไหล่ทำงานหนักเกินไปจนเกิดการอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวด บริเวณรอบ ๆ ข้อไหล่ แต่หากใช้เทคนิคในการเล่นที่ถูกต้อง ไม่เล่นจนเกินกำลัง และมีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออยู่เสมอ จะสามารถป้องกันอาการเอ็นอักเสบได้

ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprains)

ข้อเท้าแพลงเกิดจากเส้นเอ็นที่ช่วยพยุงข้อเท้ายืดหรือฉีกขาด ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วและการเคลื่อนไหวด้านข้างอย่างรุนแรง การสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม ที่ช่วยพยุงข้อเท้า และฝึกบริหารการทรงตัวให้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการข้อเท้าแพลงได้

อาการบาดเจ็บที่หัวเข่า (Knee Injuries)

หัวเข่าเป็นข้อต่อที่ซับซ้อน การเคลื่อนไหวด้านข้างอย่างรวดเร็วในขณะเล่นพิคเคิลบอล อาจทำให้หัวเข่าสึกหรอ และนำไปสู่การฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือข้อเข่าเสื่อมได้ การสวมใส่ผ้าพยุงเข่า ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อขา และการใช้เทคนิคการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าได้

อาการบาดเจ็บที่ไหล่ (Shoulder Injuries)

อาการบาดเจ็บที่ไหล่ในกีฬาพิคเคิลบอล มักเกิดจากการใช้งานมากเกินไปหรือใช้เทคนิคการเล่นที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะตีเหนือศีรษะ อาการบาดเจ็บเหล่านี้อาจรวมไปถึง กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่ฉีกขาด (rotator cuff tears) หรือภาวะหัวไหล่ติด (shoulder impingement) แต่หากมีการเสริมสร้างกล้ามเนื้อไหล่และการเรียนรู้เทคนิคการตีพิคเคิลบอลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะท่าตีเหนือศีรษะ จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ได้

ข้อศอกเทนนิสในกีฬาพิคเคิลบอล (Pickleball elbow)

"ข้อศอกเทนนิสในกีฬาพิคเคิลบอล" ใช้เรียกอาการปวดและอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอก คล้ายๆ กับอาการข้อศอกเทนนิส มักเกิดจากการแกว่งไม้ซ้ำๆ โดยการใช้ไม้หรือใช้เทคนิคที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้อาการปวดข้อศอกรุนแรงมากขึ้น การใช้ผ้าพยุงข้อศอก ประคบเย็นหลังเล่น และการบริหารกล้ามเนื้อส่วนแขนจะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บนี้

อาการบาดเจ็บที่ข้อมือ ( Wrist Injuries)

ในกีฬาพิคเคิลบอล ข้อมืออาจได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ และอาจเกิดจากการใช้ไม้พิคเคิลบอลที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจนำไปสู่การยึดหรืออักเสบของเส้นเอ็นที่ข้อมือ การบริหารกล้ามเนื้อข้อมือ การใช้ไม้พิคเคิลบอลอย่างถูกวิธี และการไม่เล่นมากเกินไปโดยไม่ได้พักอย่างเพียงพอ สามารถป้องกันอาการบาดเจ็บที่ข้อมือได้

โรคปลายเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis)

โรคนี้เกี่ยวข้องกับอาการอักเสบของพังผืดฝ่าเท้า (Plantar Fasciitis) ซึ่งเป็นแถบเนื้อเยื่อหนาที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า การเล่นบนพื้นแข็งอาจทำให้เกิดอาการอักเสบนี้ การใส่รองเท้าที่รองรับส้นเท้าไม่ดี การยืดกล้ามเนื้อน่องขาก่อนและหลังเล่น และการใช้พื้นรองเท้าเสริมสามารถช่วยบรรเทาและป้องกันโรคปลายเท้าอักเสบได้

อาการกล้ามเนื้อตึง (Muscle Strains)

อาการกล้ามเนื้อตึงพบได้บ่อยในกีฬาหลายประเภท และอาจเกิดขึ้นในกีฬาพิคเคิลบอลเนื่องจากการออกแรงมากเกินไป หรือวอร์มอัพก่อนเล่นไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อตึงอาจมีอาการปวดมาก และทำให้ผู้เล่นต้องหยุดพักฟื้นร่างกายเป็นเวลานาน การยืดเส้นเป็นประจำ การวอร์มอัพก่อนเล่นและคูลดาวน์หลังเล่นทุกครั้ง และการไม่เล่นจนเกินกำลัง สามารถป้องกันอาการกล้ามเนื้อตึงหรือกล้ามเนื้ออักเสบได้

การเล่นพิคเคิลบอลเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและดีต่อสุขภาพ เพียงแต่เราจะต้องป้องกันตัวเองจากอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม หากเราเรียนรู้วิธีลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บลงได้ ก็จะทำให้เราสามารถเล่นพิคเคิลบอลได้นานและสุขภาพแข็งแรงอย่างต่อเนื่องได้

Back to blog